ท่องเที่ยว
วัดเขาตะแบก ศรีราชา เปิด “สกายวอล์ก” สะพานกระจก ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม..
หนังสือพิมพ์ชลบุรีโพสต์ออนไลน์ (www.chonburipostonline.com) โดยทีมข่าว “โต บางแค” โทร. 089 931 2068
เมื่อเวลา 09.00 น. (26ก.พ.64) ที่ วัดเขาตะแบก ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา ทางวัดเขาตะแบกได้เปิดให้ประชาชนได้ขึ้นไปชมสะพานกระจกบนยอดเขาอีกครั้ง หลังจากปิดตัวไปชั่วคราวเมื่อวันที่ 22ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เพราะปัญหาโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง แต่เมื่อปัญหาเชื้อโควิด-19 ได้หมดไปจากพื้นที่ จังหวัดชลบุรี ทางวัดเขาตะแบกโดย พระครูญาณประยุตร พร้อมคณะกรรมการวัด จึงได้เปิดให้ประชาชน ได้เข้าชมสะพานกระจกอีกครั้ง
โดยที่บริเวณทางเข้าวัดเขาตะแบกได้มีเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เดินทางเข้ามาชมสะพานกระจก พร้อมมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจวัดอุณหภูมิ ให้เจลแอลกอฮอล์เพื่อล้างมือ ก่อนจะให้ประชาชนที่มาเดินลอดผ่านอุโมงค์ฆ่าเชื้อโรค โดยการเว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัยกันทุกคน เพื่อความปลอดภัยของทุกคนที่เข้ามา แล้วถึงจะให้เข้าไปไหว้พระและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดเขาตะแบก แล้วเดินขึ้นไปชมสะพานกระจกแบบ 360 องศา กับธรรมชาติที่ร่มรื่น ของป่าเขาบนยอดเขาตะแบก
โดยจะมีการตรวจวัดอุณหภูมิ พร้อมมีการเว้นระยะห่างอีกครั้งที่ด้านบนสะพานกระจก ก่อนที่จะให้ประชาชนเดินเข้าไปในสะพานกระจกของทางวัดอย่างเข้มงวด ซึ่งก็ได้มีประชาชนจำนวนมากที่รู้ข่าวการเปิดให้ชมสะพานกระจกอีกครั้ง ต่างพาครอบครัว เดินทางมาไหว้พระขอพรในวัดและชมความงามธรรมชาติบนสะพานกระจกอย่างต่อเนื่องโดยสะพานทั้งหมดมีความยาว 226 เมตร เป็นความยาวกระจก 50 เมตร ความหนาของกระจก 50 มิลลิเมตร รับน้ำหนักได้เกือบ 2 ตัน อัตราค่าเข้าชมสะพานกระจก วัดเขาตะแบก ท่านละ 40 บาท โดยจำกัดรอบละ 100 คน โดยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา07.00-17.00 น.ของทุกวัน
สำหรับรายได้จากการเก็บค่าเข้าชมของทางวัดเขาตะแบกนั้นมีวัตถุประสงค์1.เพื่อจัดสร้าง องค์พระพุทธโสธรทองเหลืองที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก หน้าตัก 14 เมตร สูง 33 เมตร เพื่อตั้งไว้ให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชาที่บนยอดเขาตะแบกหลังจากสร้างองค์พระพุทธโสธแล้วเสร็จ จะเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมสะพานกระจกฟรี 2. สำหรับ พระภิกษุ แม่ชี สามเณร เด็ก ให้เข้าชมฟรี 3. เป็นค่าจ้างพนักงาน ดูแลความสะอาดสะพานกระจกและ ดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมสะพานกระจก
4.ค่าจ้างซักถุงเท้า ที่สวมใส่ขณะเดินบนสะพานกระจกเพื่อไม่ให้ตัวกระจกเกิดความเสียหาย จากเศษหินหรือวัสดุเนื้อแข็งที่ติดกับรองเท้าระหว่างทางเดินบนสะพานกระจก 5.ค่าดูแลรักษาโครงสร้างสะพานกระจก รวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าต่างๆจิปาถะอีกหลายอย่างที่ทางวัดต้องใช้จ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมสะพานกระจก ซึ่งประชาชน ที่พากันเดินทางมาเข้าชมสะพานกระจกของวัดเขาตะแบก ต่างเข้าใจ ในวัตถุประสงค์ ของทางวัดที่เก็บค่าเข้าชมในครั้งนี้
โต บางแค ………. เรียบเรียง / ชำนาญ ใจเอื้อ ( โก๊ะ เก้าชีวิต) ……… รายงาน