Connect with us

ข่าวเด่น

สุดล้ำ!! “โปรแกรม ACT” ทางเลือกการบำบัดยาเสพติดแก่เยาวชนฯ

หนังสือพิมพ์ชลบุรีโพสต์ออนไลน์ (www.chonburipostonline.com) โดยทีมข่าว “ โต บางแค ” โทร. 089 931 2068

ทางสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพานำเสนอเกี่ยวกับ โปรแกรมการบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญา (Acceptance Commitment Therapy หรือ ACT) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างกระบวนการฝึกสติ การยอมรับ การสร้างพันธะสัญญา และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ที่ไม่ใช่แค่ลดอาการความผิดปกติ แต่ช่วยให้ผู้รับการบำบัดมีชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมายมากขึ้น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ เปลี่ยนไปจากวิธีการดั้งเดิมที่พยายามปิดกั้นช่องทาง ยับยั้งการเพิ่มจำนวน หยุดการแพร่กระจายหรือการขยายเครือข่ายของยาเสพติด ซึ่งจัดเป็นความพยายามจัดการกับปัจจัยภายนอกของกลุ่มเสี่ยง แตกต่างจากการทำงานครั้งนี้ ที่เป็นการแก้ปัญหาจากกระบวนการภายในของผู้ติดยาเสพติดหรือกลุ่มเสี่ยงโดยตรง โดยเป็นกระบวนการทำงานบนฐานงานวิจัย “ประสิทธิผลของโปรแกรมกลุ่มบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญาต่อเยาวชนที่ใช้สารเสพติด”

ผศ.ดร.จิณห์จุฑา ชัยเสนา ดาลลาส เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ผศ.ดร.จิณห์จุฑา ชัยเสนา ดาลลาส เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้อธิบายถึงโปรแกรมการบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญา หรือโปรแกรม ACT นี้ ที่มีการลงมือทำผ่านกิจกรรมต่างๆ 8 กิจกรรมใน 4 สัปดาห์ โดยกิจกรรมต่างๆ เป็นการสร้างความยืดหยุ่นในชีวิตและความตั้งใจในการเลิกสารเสพติด และเป็นโปรแกรมที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางใจ บนแนวคิดการอยู่กับปัจจุบันขณะ การเปิดใจยอมรับ การปลดปล่อยความคิดยึดติด รับรู้ถึงตัวตนที่สังเกตเห็นหรือรู้ทันการเปลี่ยนแปลง รับรู้คุณค่าในตัวเองและใช้คุณค่านำการกระทำสู่เป้าหมายชีวิตแบบมีพันธะสัญญากับตนเอง ซึ่งโปรแกรม ACT เป็นทางเลือกในการบำบัดรักษาที่ช่วยให้เกิดการสร้างวิธีคิดวิธีมองชีวิตแบบใหม่ให้กับเยาวชน เพื่อให้เกิดการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งในจิตใจ และเพิ่มความพร้อมในการออกไปใช้ชีวิตในสังคม โดยหลังจากการใช้โปรแกรม ACT กับเยาวชนที่เข้ารับการบำบัดสารเสพติดในโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง เขตพื้นที่ภาคตะวันออก พบว่า ความตั้งใจในการเลิกสารเสพติดและความยืดหยุ่นในชีวิตของกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมต่างกันอย่างชัดเจน โดยกลุ่มทดลองมีความตั้งใจในการเลิกสารเสพติดและความยืดหยุ่นในชีวิตสูงขึ้นภายหลังการทดลอง ในขณะที่กลุ่มควบคุมลดลง ในขณะที่จากผลการวิจัยเชิงปริมาณจากโครงการวิจัยนี้ พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจเลิกสารเสพติดคือ ความยืดหยุ่นในชีวิต ความผูกพันใกล้ชิดกับเพื่อน และความภาคภูมิใจในตนเอง ทั้งนี้ในการนำโปรแกรม ACT ไปใช้จริงในพื้นที่ พบว่า “โปรแกรม ACT เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาต่อยอดกับหลักสูตรอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีการจดจำได้ดี” เรือเอก ศรวิษฐ์ บุญประชุม โรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ ขณะที่ พว.ปทุมรัตน์ เกตุเล็ก พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นผู้บำบัดการใช้สารเสพติด ให้ความเห็นเสริมว่า “โปรแกรม ACT ช่วยสนับสนุนให้ผู้เข้ารับการบำบัดสามารถแก้ปัญหา พึ่งพาตนเองได้ สู้กับวิกฤตอย่างมีความพร้อมมากขึ้น มีความยืดหยุ่นในชีวิตมากขึ้น เปิดใจยอมรับ และมีมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไป มีการตั้งเป้าหมายในชีวิต ทำให้มีความกระตือรือร้นที่จะมาบำบัดมากขึ้น และรับผิดชอบต่อพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับผู้บำบัดอย่างจริงจัง”

ด้าน ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการ สวรส. ให้ความเห็นต่อประเด็นงานวิจัยว่า “การแก้ปัญหาไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม จำเป็นต้องเข้าใจลักษณะของกลุ่มเป้าหมายในมิติต่างๆ ให้มากที่สุด เช่น กลุ่มเยาวชนหรือวัยรุ่น เรามักจะพบว่าเป็นกลุ่มที่ขาดการยับยั้งชั่งใจ โดยการตัดสินใจส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากอารมณ์มากกว่าเหตุผล ซึ่งหากมองในด้านกายภาพ สมองส่วนหน้าของวัยรุ่นซึ่งเป็นส่วนควบคุมและประมวลความคิดเชิงระบบหรือการคิดเชิงตรรกะยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ โดยจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่ออายุ 20-25 ปี แต่ขณะที่สมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับอารมณ์ พฤติกรรมจะพัฒนาเร็วกว่า ดังนั้นวัยรุ่นจึงมีความต้องการมากจากสิ่งเร้าต่างๆ ทั้งความต้องการทางเพศ การเสพติดอะไรบางอย่าง และมีความต้องการการยอมรับจากเพื่อน ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจตกไปอยู่ในวงจรของยาเสพติดได้ง่าย นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการใช้สารเสพติดของเยาวชน เช่น ปัญหาการดูแลและความรุนแรงในครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและคนในชุมชน เช่น กรณีการถูกกลั่นแกล้งจากคำพูด หรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าว (Bully) อาจส่งผลให้เยาวชนที่ถูกกระทำ มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ ทั้งนี้เยาวชนอายุ 12-17 ปี มักเริ่มต้นด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ และอายุ 18-25 ปี จะมีทั้งดื่มแอลกอฮอล์และติดยาเสพติด ดังนั้นกรอบทิศทางการวิจัยเพื่อดูแลและช่วยเหลือเยาวชนที่ใช้สารเสพติดให้กลับสู่สังคม จำเป็นต้องพัฒนาความรู้เพื่อส่งต่อไปให้ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและมาตรการต่างๆ ในระดับพื้นที่ และควรมีการพัฒนาระบบการดูแลและบำบัดรักษาที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการได้ ทั้งในเรื่องของสุขภาพ จิตใจ และสังคม โดยควรมีการจัดบริการทั้งในโรงเรียนและชุมชน หรืออาจมีการพัฒนาแอปพลิเคชันมาเป็นตัวช่วยในการให้บริการ เนื่องจากกลุ่มเยาวชนมีพฤติกรรมการใช้มือถืออย่างชัดเจน ตลอดจนควรเน้นการทำงานซึ่งรวมถึงทิศทางการจัดสรรงบประมาณให้กับกลุ่มวัยรุ่นตอนต้นและตอนกลาง เพื่อเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาต่างๆ นอกจากนี้ควรมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการเชิงระบบ เช่น การพัฒนาระบบข้อมูลทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู การมีหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการ ประสาน และเชื่อมต่อ การพัฒนาโปรแกรมและติดตามข้อมูลทางระบาดวิทยา ฯลฯ และทั้งหมดควรเป็นการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อให้เกิดเครือข่ายทางด้านวิชาการ และเกิดงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวในช่วงท้ายของการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ว่า “แม้ว่าปัญหาต่างๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และลักษณะของสังคม แต่สำหรับปัญหายาเสพติด ยังคงเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนของทุกรัฐบาล ที่หน่วยงานด้านวิชาการมีหน้าที่ต้องพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนนโยบายให้เกิดการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การวิจัยเพื่อพัฒนาเยาวชนกลุ่มเปราะบางของ สวรส. เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองนโยบายประเทศและยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายของสังคมปัจจุบัน ที่ต้องเร่งพัฒนาให้เกิดทั้งสังคมสูงวัย สังคมคุณภาพและความมั่นคง การปฏิรูปด้านสาธารณสุข รวมถึงการปฏิรูประบบสุขภาพของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส ซึ่งเยาวชนส่วนหนึ่งเข้าข่ายเป็นกลุ่มเปราะบางที่ตกอยู่ในวงจรขาดความรู้

โต บางแค ………… เรียบเรียง / หมู บางแสน ………… รายงาน

Continue Reading
Advertisement
Advertisement

Copyright © 2020 ChonburipostOnline.Office 150/12 Village No.2 Surasak, Sriracha, Chonburi, 20110, Tel. 089 931 2068, Fax 038 328 438 Powered Tro BangKrea.