Connect with us

พระเครื่องภูธร

“ราชินีแห่งพระเครื่อง พระนางพญา พิษณุโลก”

 ราชินีแห่งพระเครื่อง พระนางพญา พิษณุโลก วัดนางพญาเป็นวัดสำคัญในประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก สาเหตุที่ตั้งชื่อ วัดนางพญา มีการสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากชื่อของ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระอัครชายา ของ พระมหาธรรมราชา และพระราชมารดาของพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งปรากฏหลักฐานว่าทรงสถาปนาวัดนางพญาแห่งนี้ ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นแม่เมืองสองแคว ในคราวบูรณปฏิสังขรณ์ราวปี พ.ศ.2090 – 2100 และในการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งนี้จึงได้ทรงจัดสร้างพระนางพญาบรรจุไว้ในพระเจดีย์เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาตามคติความเชื่อแต่โบราณของชาวพุทธ…กรุแตกครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2444 วัดนางพญาจะทำการจัดสร้างพระพุทธชินราชองค์จำลอง ทางวัดจึงได้ทำการสร้างศาลาขึ้นบริเวณด้านหน้าของวัด  เพื่อเป็นปะรำพิธีในการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 เพื่อทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชองค์จำลอง ครั้นพอขุดหลุมด้านหน้าวัดพบพระเครื่องพิมพ์พระนางพญาจำนวนมากฝังอยู่ในดินจึงได้เก็บรวบรวมไว้ที่วัด อีกส่วนหนึ่งได้นำถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5

ด้วยพระนางพญามีจำนวนมาก  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จึงได้แจกจ่ายให้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ และอีกส่วนหนึ่งนำกลับกรุงเทพมหานครไปบรรจุไว้ในเจดีย์วัดต่างๆ…กรุแตกครั้งที่สองปี พ.ศ.2470 มีการพบพระนางพญาพิมพ์เดียวกับกรุวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลกขึ้นที่กรุวัดอินทรวิหาร กรุงเทพมหานคร พบหลักฐานสำคัญจากคำจารึกบนแผ่นลานเงิน ลานทอง และลานนาค จารึกไว้ว่า พระนางพญาที่บรรจุอยู่ในพระเจดีย์แห่งนี้ เป็นพระนางพญาที่นำมาจากวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก ในปีพ.ศ. 2444 ซึ่งเป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสจังหวัดพิษณุโลก เพื่อนมัสการพระพุทธชินราชและทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชองค์จำลอง และได้นำพระนางพญากลับมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดอินทรวิหาร…ลักษณะเด่นของพระนางพญา องค์พระจะมีความงดงามอ่อนช้อย อกพระตั้งนูนเด่นมีสังฆาฏิ ลำแขนทอดอ่อนพริ้วไหว งดงามสมกับกุลสตรี พระนางพญาที่พบทั้งหมดเป็นพระเนื้อดินเผา พระที่ขึ้นจากกรุมีความแตกต่างกันในแต่ละองค์ บ้างแก่แร่ บ้างแก่ดิน บ้างแก่ว่าน ด้วยเพราะจำนวนที่จัดสร้างมาก จึงทำให้ส่วนผสมแตกต่างกันออกไป เนื้อพระจึงมีความแตกต่างกัน…พระนางพญาจำแนกพิมพ์เด่นๆได้ 5 แม่พิมพ์ มี พิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์เข่าตรง พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์เทวดา พิมพ์อกนูน…พุทธคุณในพระนางพญา ตามประสบการณ์ของผู้ที่ได้บูชา มีทั้งเมตตามหานิยม วาสนาบารมี แคล้วคลาดป้องกันภัย คงกระพันชาตรี เรียกได้ว่าครอบจักรวาล พุทธคุณมากมายขนาดนี้ถึงได้เป็นหนึ่งในชุดพระเบญจภาคี สุดยอดพระเครื่องเมืองสยาม…พระเครื่องแต่ละองค์พุทธศิลป์แตกต่างกันออกไป พระนางพญาก็เช่นกัน สร้างให้มีพุทธศิลป์พริ้วไหว อ่อนช้อย งดงาม สื่อถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักวางตัว ทำตนให้เป็นที่รัก  ผู้อ่อนน้อมย่อมเป็นที่ต้องใจเสมอ เป็นผู้ใหญ่ต้องมีจิตเมตตาโอบอ้อมอารี เป็นผู้น้อยต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนครับ เมื่อบูชาพระนางพญาผู้บูชาต้องประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของคุณงามความดีด้วยจึงจักส่งเสริมกันดีนักแล

“ อาจ  บางแสน ”

Continue Reading
Advertisement
Advertisement

Copyright © 2020 ChonburipostOnline.Office 150/12 Village No.2 Surasak, Sriracha, Chonburi, 20110, Tel. 089 931 2068, Fax 038 328 438 Powered Tro BangKrea.